Search
Close this search box.

รีวิว Keychron K2 ความคลาสสิคที่ไม่จางหาย

รีวิว Keychron K2 ถึงจะนานแล้วแต่ยังไม่ตกยุค

ทางเรารีวิวแมคคานิคอลคีย์บอร์ดตัวใหม่ๆ ไปเยอะแล้ว ขอวกกลับมารีวิวคีย์บอร์ดตัวเก่าเสียหน่อย ตัวที่เหมือนประตูบานแรกเข้าสู่โลกของแมคคานิคอลคีย์บอร์ด เป็นครูคนแรกสำหรับนัก Mod หรือจะเป็นได้แม้กระทั่งตะปูตอกปิดผนึก ตัวเดียวตัวสุดท้าย ไม่เล่นอีกแล้วแมคคานิคอลคีย์บอร์ด

ตัวที่เราจะพูดถึงนี้คือ Keychron K2 คีย์บอร์ดที่เรียกได้ว่ามีช่วงเวลาหนึ่งของเข้าเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ หมดแล้วหมดอีก ความน่าสนใจของมันช่วงแรกๆ คือมันเป็นคีย์บอร์ดที่ผ่านการระดมทุนจาก kickstarter เว็บไซต์ที่ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ทั่วโลกขายไอเดียสินค้ามากมาย หากเราสนใจ ก็เพียงแค่ลงเงินให้กับผู้จัดทำ เจ้า Keychron K2 นี่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงนั้น จนออกมาเป็นคีย์บอร์ดที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน แม้มันจะไม่ใช่แมคคานิคอลคีย์บอร์ดตัวแรกของโลก แต่มันเข้าถึงง่าย ผลิตเยอะ ใช้งานได้ทันที ดีไซน์สวย แล้วเราจะพลาดได้อย่างไร 

Keychron K2 ที่เรานำมารีวิว จะเป็นรุ่นแรก ไม่ใช่ V2 ซึ่งความแตกต่างของมันจะอยู่ที่ดีไซน์ภายนอกเล็กน้อย ความลาดเอียง และแผงวงจรแบบ Hot-Swap ที่ไม่มีในรุ่นแรก แล้วรุ่นเก่าสุดเก๋านี้จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวเราจะรีวิวให้ฟังครับ

เปิดกล่อง

ตัวกล่องนี่ก็ไม่แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ เลยครับ เน้นดำ มีพิมพ์ชื่อรุ่นและรูปคีย์บอร์ดด้านหน้าที่ทั้งหมดแอบจะมองไม่ค่อยเห็น ต้องเอียงให้แสงมาสะท้อนหน่อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เดี๋ยวสักพักเราก็เก็บกล่องมันเข้ากรุ มาดูข้างในกันดีกว่า ข้างในจะเจอกับตัวคีย์บอร์ด มาพร้อมที่ครอบคีย์บอร์ดพลาสติกช่วยกันฝุ่น สายเชื่อมต่อ USB-C to USB-A พอร์ตฝั่งเสียบเข้ากับคีย์บอร์ดมันจะโค้งเป็นตัว L สอดรับกับตำแหน่งช่องเชื่อมต่อ จะได้ไม่ต้องงอสาย อันนี้ดีเลยครับ ใส่ใจรายละเอียดได้ดี ที่เหลือภายในกล่องนั้นจะมีคีย์แคปสำรองสำหรับ Mac Layout เผื่อใครใช้กับอุปกรณ์ Apple และสุดท้ายคือที่ดึงคีย์แคปครับ ที่ให้มานี่ก็ครบละ พร้อมใช้งาน

ดีไซน์

Keychron K2 ที่มันหวือหวา อาจเพราะมันมาด้วยขนาด 75% โอเค มันไม่ได้ใหม่มากขนาดนั้นตอนนี้ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมันหวือหวาเอาเรื่องนะ อย่างเราที่จับคีย์บอร์ด Full-Size ไม่ก็คีย์บอร์ดเกมมิ่ง TKL แค่นั้นมาตลอดชีวิต พอมาเจอคีย์บอร์ดปุ๊กปิ๊ก ที่นอกจากจะตัดปุ่มตัวเลขออก มันยังเอาปุ่มคำสั่งแถวด้านบนปุ่มทิศทางออกไปไว้ข้างๆ ด้วย ก็รู้สึกว่าแปลกใหม่จนต้องไปหาว่าจริงๆ แล้วคีย์บอร์ดมันมีกี่ Layout กันแน่ พอหาแล้วก็ปิดเลย เหนื่อย เยอะเกินต้าน ตอนนี้รู้แค่ว่านี้คือ 75% พอละ มีด้วยกันทั้งหมด 84 คีย์ เรามันก็คนใช้คีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คมาก่อน ไม่มีปัญหาเลย ใช้งานได้โอเค เรื่องตัวเลขก็แค่ต้องเปลี่ยนภาษามาใช้ แต่นอกนั้นมันก็คุ้นตา เป็นมิตร ไม่มีเขอะเขิน 

อ่อ มีเขินหน่อยๆ คือมันเรียงชิดอะ มันหวงที่ เอาขนาดเล็กๆ ไว้ก่อน ปุ่มที่ไม่ถูกตัด ที่ยังเหลือรอดชีวิตทั้งหมดก็เบียดเข้าหากันหมด ช่วงแรกๆ มีแค่ไม่ชินกับความเบียด ขอออกตัวว่านิ้วอ้วนด้วย มันเลยลั่นบางจุด แต่พอชินแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร เหมือนสมองบันทึกแล้วว่านี่คือจังหวะของ 75% ถ้าวันไหนกลับไปใช้ Full-Size เดี๋ยวสมองก็เอาไฟล์อีกอันมาใช้แทน

กลับมาเรื่องดีไซน์อีกหน่อย ตัวคีย์บอร์ดมันไม่ได้มีจุดหวือหวา มี Knob หรือมีจุดไฟตรงอื่นนอกจากตรงคีย์แคป มันก็เลยมาในทรงเหลี่ยมทั่วไป ด้านใต้มีขาตั้งมาให้ปรับ 2 ระดับ โดยรวมเข้ามือดี แม้กรอบจะหนา แต่พอให้ขาตั้งมา ก็ไม่งอแงเท่าไหร่ 

เคส

เชื่อไหม ตอนแรกที่มันมามีแต่คนบอกว่ามันหนักมาก นี่แหละคีย์บอร์ดหนักๆ ที่ทุกคนไม่เคยเจอ ถ้าจะเทียบกับคีย์บอร์ดสำนักงานเบาๆ พลาสติกกร็อบแกร็บ แต่นี่มันอลูมิเนียมเลยนะเว้ย มันหนักแบบนี้ละ เฉลยคือ มันเป็นอลูมิเนียมจริง แต่เป็นแค่กรอบเคส มันไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่บอกว่าคีย์บอร์ดอลูมิเนียมแท้ คือ ทุกส่วนทั้งกรอบ ทั้งเคส ถือมือหัก 2 โล เอย 3 โล เอย อันนั้นเกินไป แต่ความเป็นอะลูมิเนียมอันนี้ก็มีข้อดีคือ ไม่ได้หนักมาก และได้เรื่องความแข็งแรง ทนทานด้วย

Plat และ PCB

ตัวเพลทเป็น อลูมิเนียม ให้ความรู้สึกแข็งเหมือนที่ทุกคนน่าจะเคยกดกันมาบ้าง ส่วน PCB ตัวนี้เป็นแบบ Solder หรือก็คือ ยึดแล้วยึดเลย หากต้องการจะเปลี่ยนสวิตซ์ ต้องใช้การบัดกรีเท่านั้น แต่รุ่น V2 เป็น Hot Swap นะ ถ้าใครจะซื้อ K2 ก็แนะนำซื้อรุ่นใหม่ไปเลย มันปรับปรุงเยอะพอตัว แล้วการที่เราได้แผงวงจรที่ไม่ต้องบัดกรี ก็ลดเวลาและค่าใช้จ่ายไปเยอะ หรือถ้าจะไม่เปลี่ยนสวิตซ์อีกแล้วชีวิตนี้ ก็แนะนำ….V2 ตัวใหม่เถอะ เอาตัวเก่าทำไม จะเปลี่ยนไม่เปลี่ยนก็แล้วแต่อนาคต แต่วันนึงต้องถอดมาลูป หรือสวิตซ์เสีย ต้องยกไปร้าน หรือเริ่มบัดกรีออกมา อันนี้เหนื่อย 

Switch 

ทาง Keychron เลือกใช้สวิตซ์ Gateron หลายรุ่น รุ่นนี้ก็เช่นกัน มีให้เลือกทั้ง Red Switch, Blue Switch และ Brown Switch แต่ละตัวก็ให้สัมผัสและเสียงกดที่แตกต่างกันไปตามที่หลายคนรู้จัก แต่ด้วยความเป็นบอร์ดที่ต้องบัดกรี ก็ควรคิดดีๆ ก่อนจะซื้อนะ มันจะเปลี่ยนยาก ทางด้านประสิทธิภาพของสวิตซ์ก็ดีไม่ใช่เล่นๆ คือ Gateron ก็ไม่ได้แบรนด์ไก่กาอะไร และด้วยมันเป็นแมคคานิคอลคีย์บอร์ดตัวแรกๆ ที่หลายคนใช้ ความตื่นเต้นมันก็คือการได้กดคีย์บอร์ดที่ให้สัมผัสดีกว่าคีย์บอร์ดแบบ Rubber dome ทั่วไป ยังไงก็สนุก ถือเป็นสวิตซ์ตัวแรกที่ดี ไม่น่าผิดหวังอะไร

คีย์แคป

ตัวนี้ได้มาจากศูนย์ไทย มันจึงเป็นคีย์แคปแบบภาษาไทย – อังกฤษ เลือกใช้โปรไฟล์ OEM ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกัน ทั้งหน้าตาและสัมผัส ใช้วัสดุ ABS และวิธีการพิมพ์แบบ Doubleshot แสงไฟ RGB รอดผ่านออกมาได้สวยดี

เสียงในการพิมพ์

ตัวที่เราใช้เป็น Red Switch ซึ่งให้เสียงเบาอยู่ละ แต่ตัวเสียงมันก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเท่าไหร่ คือมีเสียงก้องอย่างชัดเจนร่วมมาด้วย คือถ้ากางสเปกออกมา ดูข้างในมัน ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เสียงมันจะก้อง เพราะข้างในมันไม่ได้มีตัวซับเสียงมากเท่าคีย์บอร์ดสมัยนี้ ทำให้ถ้าหากไม่ชอบเสียงนี้ หลายคนก็อยากจะถอดออกมา Mod กัน แต่ต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้ออกแบบมาให้ Mod ง่ายเหมือนตระกูล Q ที่ออกมาใหม่ ฉะนั้นก็อาจจะลำบาก แถมหากเสียก็มีสิทธิหลุดประกันครับ แต่ๆ เรื่องเสียงนี้แล้วแต่คน บอกคนชอบเสียงเดิมมันอยู่แล้ว แบบให้มีอะไรก้องๆ แต่หากชอบเสียงแน่นๆ เรื่อง Mod ก็ห้ามกันไม่ได้ครับ แต่ก็จะต้องทำหลายขั้นตอนหน่อย

สัมผัสการกด

ตอนกดมันก็เด้งอยู่นะ แต่คาดว่าเด้งจากสวิตซ์ เพราะมันไม่ได้ Mounting แบบพิเศษอะไร และด้วยอลูมิเนียมเพลท มันก็จะแข็งๆ หน่อย ส่วนตัวชอบเด้งๆ แต่ก็เคยกดตัวแข็งๆ แบบนี้มาบ้าง สัมผัสการกดตัวนี้เลยบอกได้ว่ามันโอเค มันไม่แย่เลยครับ 

ความถนัดในการพิมพ์

คือด้วยความคลั่ง 75% มาช่วงนึง เลยลองจับหลาย Layout มาแล้ว ตัวนี้ก็ไม่มีปัญหามากนัก แต่จะบอกคนที่เพิ่งมาจับ Keychron K2 คือมันค่อนข้างจะชิดมาก แถวฟังก์ชันหรือปุ่ม F นี่ก็เบียดลงมา ปุ่มคำสั่งที่เคยอยู่ด้านบนของปุ่มทิศทางก็เบียดอยู่ข้างขวา และปุ่มทิศทางเองก็มาเบียดกับปุ่มตัวอักษร แรกๆ มีพิมพ์ผิดบ่อย แถมเคยกดพลาดไปโดน F5 ด้วย ทำให้รีหน้างานหายหมด หลังจากโวยวายเสร็จก็ต้องระวังมือมากขึ้นจนกว่าจะคุ้นชิน ซึ่งก็ใช้เวลาสัก 1-2 วันเท่านั้น ยังไงมันก็เป็นตำแหน่งพิมพ์ใหม่ๆ รอให้ชินก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้วครับ 

ส่วนกรอบตัวนี้ที่เป็นอลูมิเนียม มันก็ค่อนข้างหนา โชคดีที่เขาให้ขาตั้งมาด้วย มันเลยเอียงเข้ามือมากกว่าตัวที่ไม่ให้มา ก็ใช้งานได้ชิวๆ ไม่ต้องหาที่รองข้อมือมาใช้งานร่วม แต่ถ้าใช้ มันก็จะเข้ามือกว่าอยู่ดี คือมันก็มีทางเลือกให้เราไม่ต้องพกที่รองข้อมือทุกครั้งที่จะเอาออกไปใช้งานนอกสถานที่แหละ 

การเชื่อมต่อ

ตัวนี้สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งมีสายและไร้สาย การต่อมีสายก็ทั่วไปครับ เชื่อมด้วยพอร์ต USB-A เข้ากับคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊ค ทำได้ทันที รวดเร็ว ชาร์จแบตเตอรี่ไปในตัว ส่วนการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่เขาให้มาเป็น Bluetooth อันนี้ก็ดีครับ มันครอบคลุมพวกสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตด้วย และดีกว่านั้นคือมันให้มา 3 ช่อง สามารถเชื่อมต่อได้พร้อมกัน 3 เครื่อง จะใช้เครื่องไหนก็แค่กดปุ่มสลับใช้งาน เหมาะสำหรับคนที่ทำงานพร้อมกันหลายเครื่อง นี่ก็ไม่เคยใช้พร้อมกันหลายเครื่องนะ แค่คอมตัวเดียวก็ยุ่งมากพอละ แต่เคยลองสลับใช้งานเหมือนกัน อันนี้ดี แบบคอมที่ทำงาน เชื่อมช่อง 1 คอมที่บ้าน เชื่อมช่อง 2 ไปใช้กับคอมไหนก็แค่กดสลับ ไม่ต้องมากดเชื่อมต่อใหม่ทุกรอบ เป็นฟีเจอร์ที่สะดวกดีจริงๆ 

เสริมอีกนิดว่ามันมีปุ่มสลับใช้งานระหว่าง Windows และ macOS ด้วยนะ หลายคนใช้แมคไง แล้วถ้าคีย์บอร์ดมันไม่ได้ออกแบบสำหรับแมคโดยเฉพาะ บางปุ่มคำสั่งมันจะใช้งานไม่ได้ แต่ตัวนี้รองรับเลย ชาวแมคก็จะได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพเหมือนใช้งานคีย์บอร์ดบน MacBook ได้ทันที 

Software

น่าเศร้าเล็กน้อย Keychron K2 ไม่ได้มีซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานกับมันโดยเฉพาะ คือถ้าใช้พิมพ์งานทั่วไป มันก็ไม่ได้ต้องสลับคีย์หรือตั้งค่าปุ่มใหม่ แถมขนาด 75% ก็ไม่ได้ถูกตัดคีย์เยอะขนาดต้องสร้าง Layer อีกชั้นนึง ส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการไม่มีซอฟต์แวร์ครับ 

สิ่งที่ชอบ

  • ใช้งานง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ทั้งทำงานและเล่นเกม
  • น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง ทนทานในระดับหนึ่ง
  • คีย์แคปภาษาไทย – อังกฤษใช้งานง่าย
  • ไฟ RGB รอดผ่านคีย์แคปได้สวยงาม

สิ่งที่ไม่ชอบ

  • แถวฟังก์ชันติดกับแถวตัวเลขเกินไป กดผิดบ้างบางครั้ง
  • Mod ยากเสียหน่อย

มาให้คะแนนกัน

  • วัสดุ 6.5/10 : มันไม่ได้อลูมิเนียมทุกส่วนขนาดนั้น เก็บขอบไม่ค่อยดี
  • design 7/10 : 75% ทั่วไป ขอตัดที่คนนิ้วอ้วนไม่ถูกใจปุ่มแบบชิดแน่นติดกัน
  • เสียง 7/10 : เสียงไม่ได้ดีมาก แต่ก็พอฟังได้ 
  • การใช้งาน 8/10 : คนเอามาใช้เลยก็คือตอบโจทย์ แถมยังเชื่อมต่อครอบคลุม
  • ความคุ้มค่า 7/10 : มันเหมาะสำหรับมือใหม่ และคนที่ไม่ได้อยากเสียเงินมากกับคีย์บอร์ด ตัวนี้ก็ถือว่าได้สัมผัสที่ดี ประสบการณ์พิมพ์ที่แตกต่างกับคีย์บอร์ดทั่วไป มีราคาเริ่มต้น

 

Youtube แนวทางการ Mod และ Sound test

https://www.youtube.com/watch?v=BzF21H4_ZEU

อันนี้ Mod แบบให้เสียงมันไม่หลอนหรือก้องมากเกินไป 

https://www.youtube.com/watch?v=vlgoW9vkPvc

อันนี้ก็ Mod แต่ละเอียดขึ้นหน่อย 

https://www.youtube.com/watch?v=5FynctdZqZw

อันนี้โหดเลย คือเทซิลิโคนเข้าไปบนเคสเพื่อเป็นแม่พิมพ์ ซับเสียงสุด จากแต็กเป็นต็อก

ทุกตัวที่นำมาจะเป็นของ K2V2 หมดเลยนะครับ เพราะมันออกมาใกล้กัน แล้ว V2 คนซื้อมากกว่า

หาซื้อได้ที่ไหน

– Mercular

– Shopee

– Lazada

– 425 Degree

Keychron K2 นี่ก็เป็นคีย์บอร์ดอีกตัวที่ทำผมเข้าวงการแมคคานิคอลคีย์บอร์ด เราจับมันเพราะเราต้องรีวิวขายของขึ้นเว็บไซต์ ไปๆมาๆ เราอยากฟังเสียงคีย์บอร์ดตัวอื่นๆ ไปด้วย งงว่าทำไมเขาถึงต้อง Mod กัน เลยเริ่มศึกษาว่าจริงๆ แล้วมันมีหลายส่วนมากที่เราต้องทราบ ทั้งรูปแบบการ Mounting ชนิดของเพลท คีย์แคป สวิตซ์ และชิ้นส่วนภายในอีกมากเพื่อให้เสียงตรงกับใจเรามากสุด และเชื่อว่า Keychron K2 ก็น่าจะเป็นคีย์บอร์ดตัวแรกๆ ของใครหลายๆ คนเช่นกัน

สำหรับใครที่ชื่นชอบแมคคานิคอลคีย์บอร์ด ก็อย่าลืมติดตามเราไปเรื่อยๆ นะครับ ตัวใหม่ๆ ตัวเก่าๆ ถ้าเราได้จับ ก็ไม่พลาดที่จะมารีวิวให้ได้อ่านและชมกันแน่นอน คีย์บอร์ดตัวต่อไปจะเป็นอะไร ต้องคอยติดตามครับ

ขอบคุณรูปภาพ : keychronthailand

Share the Post:

Related Posts

รีวิว Nuphy Air 75 ครบจบสำหรับ Low Profile

รีวิว Nuphy Air 75  ย้อนกลับไปช่วงที่ Keychron กำลังดัง นางก็ออก K3 mechanical keyboard 75% low profile มาให้ทุกคนได้กรี๊ดกัน จะหาซื้อก็หาไม่ได้ ส่วนตัวผมเองก็ซื้อไม่ทันเช่นกัน ต้องรอเฝ้าติดตาม พอเค้าประกาศออกมา ว่าของมาแล้วก็รีบกดเลยจ้า

Read More

รีวิว Royal Kludge RK68 ตัวเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดคัสตอม

Royal Kludge RK68 ถ้ามีคนมาถามให้แนะ Mechanical Keyboard ไซส์ 65 ตัวเริ่มต้นให้ซักตัว หนึ่งในตัวเลือกที่หลายๆคนจะคิดถึง ก็น่าจะเป็น RK68 ของแบรนด์ Royal Kludge ราคาปกติกระมาณ 1,600 บาท ถ้ารอช่วงลด มีโอกาส

Read More