Search
Close this search box.

รีวิว Keychron Q1 Knob ตัวฮิตติดชาร์จจนปัจจุบัน

รีวิว Keychron Q1 Knob

แม้เจ้าตัวนี้จะไม่ได้ออกมาใหม่แบบหมาดๆ แต่ก็เป็นคีย์บอร์ดอีกตัวที่มีคนให้ความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ช่วงแรกๆ บอกเลยว่าไม่ได้สนใจขนาดนั้น คีย์บอร์ด 75% ตัวอื่นที่มี Knob ก็ออกเกลื่อนจนเลือกกันไม่ถูก แต่สุดท้ายก็ได้มาลองของจริง ได้สัมผัสจริง ก็เริ่มรู้สึกสนใจมาก จนต้องเอามาลองใช้งาน 2-3 วันที่ผ่านมา บอกได้เลยว่านี้ก็คงเป็นคีย์บอร์ด 75% knob อีกตัวที่ใช้งานได้ดี ไม่แพ้ใครเลย

แกะจากกล่องกันไปเลย

เราได้มาแบบครบๆ มาเป็นกล่อง กล่องก็จะเหมือนกับ Keychron ตัวอื่น สีดำๆ มีชื่อรุ่นอยู่ข้างหน้า พอเปิดออกมาก็เจอกับคู่มือการใช้งานทั่วไป ภายในกล่องก็จะประกอบไปด้วย Keychron Q1 Koob, คีย์แคปสำรอง, ชิ้นส่วนพวกน็อตสำรอง และที่รู้สึกขัดๆ ที่สุด คือสายเชื่อมต่อนี่แหละ มันดันเป็น Type C ทั้งสองฝั่ง และด้วยความเป็นคีย์บอร์ดมีสายอะ สภาพแบบนี้คือต้องใช้กับคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊คแน่ๆ แล้วแหละ ซึ่งนอกจาก Macbook กับโน๊ตบุ๊คบางรุ่น ที่เหลือก็มี USB-A ติดไว้ทั้งสิ้น ดีที่มันมีอแดปเตอร์แปลงหัวจาก C ไป A มาด้วย ไม่งั้นเจอดีกว่านี้แน่ คือถ้าใครไม่ติดที่ขี้กลัวเหมือนผม กลัวหาย กลัวลืมเอามา โอเค เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากเท่าไหร่ แต่ก็แค่ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ อย่าลืมว่ามันเป็นอแดปเตอร์ หายก็เป็นเรื่อง

ดีไซน์

ทางด้านดีไซน์นี้ไม่ได้แตกต่างจากคีย์บอร์ดตัวอื่นในขนาด Layout ที่เท่ากัน คือมันก็ลาดเอียงลงมาให้เข้ามือ ด้านใต้ไม่ได้มีขาตั้งมาให้ เสียดายนิดหน่อย เพราะถ้าว่ากันจริงๆ Keychron Q 1 Knob ตัวนี้มันค่อนข้างหนาเอาเรื่อง คือขอบเคสหนาเอามากๆ แถมที่ว่าลาดเอียงแล้วก็ยังรู้ว่ามันสูงอยู่ดี พอไม่มีขาตั้งมาให้ ก็ต้องขอใช้วิชาอัญเชิญอุปกรณ์เสริมตัวสำคัญ คือที่รองข้อมือมาใช้ ตอนช่วงแรกๆ อะ ยังไม่ได้ใช้ ให้มายังไงฉันก็ใช้แบบนั้นไปเลย อยากลองดูว่าพิมพ์ได้มั้ย หรือเป็นโรคติดทื่รองข้อมือ เอาเข้าจริงก็พิมพ์ได้ แต่พิมพ์ผิดบ่อย ด้วยความไม่ชินระยะคีย์บอร์ดใหม่ด้วย แต่พอลองเอาที่รองข้อมือมาใช้ เอ้า! พิมพ์เป็นน้ำเลย ไม่ค่อยผิด เลยสรุปได้ว่า ถ้ามันชิน ก็ลองกดก่อนให้ชิน ถ้าไม่ไหว ก็ลองใช้คาถาอัญเชิญ

วัสดุที่ Keychron ไว้วางใจ 

แต่ไหนก็ไร ตั้งแต่ Keychron K2 ที่มันดังๆ เมื่อ 2-3 ปีก่อน วัสดุที่ทางแบรนด์เลือกใช้ก็เป็นอลูมิเนียม จนถึงตอนนี้ จุดนี้ ก็ยังคงเป็นอลูมิเนียมเหมือนเดิม แต่มีความหนักมากกว่าตระกูล K แบบสัมผัสแล้วรู้เลย ตัวนี้แน่น และหนักกว่ามาก อาจเป็นเพราะใช้อะลูมิเนียมเป็นส่วนเคสทั้งหมด ไม่เหมือนในซีรีส์ก่อนๆ  แต่ก็ยังถือได้อยู่นะ แต่ถือแล้วต้องรีบวาง จะเมื่อยมือเอา

เพลทอะลูมิเนียม กดกันดังปั๊กๆ

ตัวเพลทจะเป็นอะลูมิเนียม ก็ไม่ใช่เพลทที่คุ้นอีก ปกติใช้ POM และก็ข้ามไป Brass เลย พอลองมากดด้วยเพลทอลูมิเนียมแล้วก็ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับทองเหลืองเหมือนกัน อันนี้ไม่แน่ใจจริงๆ ว่ามันมีจุดอื่ นต่างกันอีกมั้ย แต่กดแล้วกระแทกเลย ปั๊ก ปั๊ก ยังดีที่ตัวนี้มัน Mounting แบบ Gasket นะ มันยังเด้งหน่อย แต่เหมือนเด้งแค่ขอบๆ ตรงกลางที่มีตัวอักษรเยอะๆ แล้วเรากดมันบ่อยๆ กลับรู้สึกเด้งน้อยกว่าส่วนขอบ 

ไอ้ความเด้งเอย ความแข็งเลยนี่แล้วแต่คนแล้วกัน ส่วนตัวชอบเด้งๆ หน่อยๆ พอมาเจอตัวนี้ก็เลยรู้สึกได้เลยว่าแข็ง แต่แข็งก็ดีนะ มันกดสนุกดี เปิดประสบการณ์ใหม่

PCB แบบ Hot-Swappable

ถ้าไม่กลัวปวดหลัง ประสบการณ์การเยอะ มีพลาสเตอร์ปิดแผลอยู่ ก็อยากลองแบบบัดกรีดูสักครั้ง แต่ก็ขอย้อนกลับไปข้ออ้างก่อนหน้านี้ทั้งหมด คือไม่มีประสบการณ์ กลัวปวดหลัง และยังต้องใช้นิ้วพิมพ์งาน การที่ Keychron Q1 Knob มันเลือกใช้ PCB แบบ Hot-Swap ก็ดีไปอีก คือสวิตซ์ที่มันให้มาก็ดีนะ แต่รู้ว่าหลายคนมีสวิตซ์ที่ชอบกันอยู่แล้ว การถอดเปลี่ยน หรือเอาสวิตซ์ไปลูปแล้วนำกลับเข้ามาใหม่จึงเป็นเรื่องง่าย ตัวสเปกมันก็รองรับทั้ง 3-5 Pin หมดยุคต้องหักขาสวิตซ์เล่นกันแล้วแหละ

เขาให้ข้างในมาเยอะนะ

เอาละ เรื่องสัมผัสเอย เสียงเอยไรเอย จะไม่พูดถึงโครงสร้างข้างในเลยก็ไม่ได้ ก่อนหน้าที่จะได้จับก็รู้เลยว่า Keychorn เนี่ย เขาพัฒนานะ มันไม่ใช่คีย์บอร์ดซีรีส์แรกของทางแบรนด์เหมือนตระกูล K ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ใครแกะมันออกหมดประกันกันทั่วหน้า คือไม่ได้กะให้เอามามอดอะ ซื้อแล้วใช้เลย แต่ดูเหมือนว่า “หมดการรับประกัน” จะไม่ได้น่ากลัวหรือน่าเกรงขามพอให้เหล่านักมอดต้องตัวสั่น โอ้ย ไม่กล้ามอดแล้วกลัวหมดประกัน นู้น มีคนถอดออกใส่ๆ แกะเล่นกันไปหมด ทำให้มันออกตัวใหม่อย่างตระกูล Q ที่ “มึงจะมอดหรอ อ่อ เอาเลย”  

Keychron Q1 knob ตัวนี้มีโฟมสองจุดด้วยกัน คือ เคสโฟม โฟมรองชั้นล่างสุด กับ โฟมดูดซับเสียง ที่อยู่ระหว่าง PCB และ Plate สองตัวนี้จะช่วยซับเสียง ลดเสียงก้องในระดับหนึ่ง  แต่มันก็มีเสียงแปร่งๆ อยู่พอสมควรเลย ด้วยตัวโฟมข้างในไม่ได้หนาหรือดีมากนัก อันนี้ขึ้นอยู่กับความชอบเลย ถ้าอยากได้แน่นกว่านี้ มอดได้ไม่ยากครับ 

จะใช้งานเลยก็ไม่เสียหาย หรือจะมอดเพิ่มมันก็ยังทำได้อีกเยอะ แถมราคานี้ได้ครบ ไม่ต้องซื้อคีย์แคปกับสวิตซ์เพิ่มเหมือน GMMK Pro มันก็เลยดูน่าสนใจกว่า แต่ๆ “มันน่าสนใจกว่า” ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนเด้อ

สวิตซ์ Gateron phantom Red

คนรัก Tactile อย่างฉัน พอมาเจอ Linear บอกเลยหวั่นใจนะ ประสบการณ์ Linear ที่ผ่านมาคือพิมพ์ผิดล้วน พิมพ์ 3 คำ ผิดไปแล้ว 4 คือมันกะแรงไม่ถูก ลื่นหัวแตก แล้วมือคนอ้วนอะ แค่วางเบาๆ ก็กดให้แล้ว มันเลยน่ากลัวที่จะต้องเริ่มการทดลองโดยใช้สวิตซ์ที่เคยฝังใจ

แต่ ! อันนี้พูดเลยแบบไม่โม้ ไม่รู้เพราะระยะคีย์มันพอดี ความสูงมันถูกต้อง หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ ทำให้ฉันเริ่มเปิดใจให้กับสวิตซ์ Linear เพิ่มขึ้นหน่อยๆ นะ มันพิมพ์สนุก สวิตซ์ Gateron phantom Red มีความสนุกแบบพอดี พิมพ์ผิดน้อยลง แต่พิมพ์เร็วมากขึ้นเมื่อเทียบกับ boba u4t ที่ใช้อยู่ ตัวนั้นคือหนักเหลือเกิน แต่แลกมาด้วยความเร็วคงที่ ไม่ผิดบ่อย แต่นั้นแหละ อันนี้ขอมาบอกจากสวิตซ์ที่ติดบอร์ดมาเลย ว่ามันไม่แย่ ถ้าไม่มีสวิตซ์อื่นที่ชอบ ใช้สวิตซ์ที่ให้มาเลยก็ไม่เสียหายจริงๆ แต่ถ้ามี ก็ถอดเปลี่ยนกันได้

คีย์แคปของไทย ไม่เหมือนตัวนอก

ถ้าไปดู Keychron Q1 Knob ของต่างประเทศ หรือ Q อื่นๆ ในศูนย์ไทย จะเห็นได้ว่ามันใช้คีย์แคปโปรไฟล์ OSA กันหมด แต่  Q1 ที่ได้มาเป็นคีย์แคปโปรไฟล์ OEM ตัวที่น่าจะคุ้นตาคุ้นมือหลายๆ คน เพราะมันเป็นโปรไฟล์มาตรฐาน หากใช้คีย์บอร์ดเกมมิ่งมาบ้าง ก็น่าจะคุ้นกับคีย์แคปทรงนี้

พอทรงมันคุ้นมือ ก็เลยไม่ได้มีปัญหาอะไร ยิ่งถ้าใครเคยใช้ Cherry มา ก็ไม่ต้องกังวลมากนัก แม้มันจะหนากว่า Cherry เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ระยะหรือจังหวะมันเปลี่ยนไป กดได้สนุกเหมือนเดิม

ในด้านการพิมพ์ตัวอักษรเนี่ย ฉันแค่ขัดใจกับฟอนต์เท่านั้นเอง ส่วนมากมันจะเป็นฟอนต์มีหัว พอเจอคีย์แคปที่เลือกใช้ฟอนต์แบบไม่มีหัว แถมยังมีขนาดเล็กกว่าฟอนต์ภาษาอังกฤษ แล้วยังทำสีเทาทั้งๆ ที่คีย์แคปตัวเป็นสีขาว! เอางี้ ถ้าเป็นครูแล้วเจอนักเรียนลงฟอนต์สีสว่างบนพื้นหลังสีขาว ฉันจะให้กลับไปแก้สีมาก่อน แล้วค่อยมานำเสนอใหม่ มันไม่ได้อ่านยากเกินสำหรับคนที่ต้องดูไปด้วยพิมพ์ไปด้วยขนาดนั้น แต่บางทีด้วยขนาด ด้วยสีที่มันกลืนกันเกินไป มันต้องเพ้งตาอะ แล้วดันเป็นฟอนต์ไม่มีหัวอีกก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าพิมพ์สัมผัส ไม่ได้ดูอยู่แล้ว ก็ข้ามไปเลย ถือว่ามีฟอนต์ไทยให้รู้ว่าซื้อศูนย์ไทยก็พอ

เสียงในการพิมพ์

ตัวนี้จะให้เสียงออกไปทาง Clack แน่นๆ หน่อย แต่เสียงดูต้องไปฟังเอาเองอีกแหละ เดี๋ยวจะบอกว่าหูไม่ดี ซึ่งไม่ดีจริง ฮาๆ คือ Clack แน่ๆ แต่ระดับไหน ก็ต้องไปฟังดูอีกที ส่วนตัวชอบ Thock มากกว่า เลยไม่ได้หวือหวากับเสียงมากนัก และด้วย Linear สวิตซ์เสียงเงียบๆ เลยไม่ได้มีเสียงจากสวิตซ์มาให้คลุมเคลือ เอาเป็นว่า ไปฟังกันเองเลยยยย

ฟีลในการพิมพ์

สนุกดี ที่เคยบอกไปในตอนต้นว่าไม่ได้รัก Linear มากเท่าไหร่ แถมมันยังเป็นอลูมิเนียมเพลทอีก ก็ยิ่งรู้สึกว่ามันแข็ง แต่พอมันลื่น มันไม่ได้ต้องออกแรงพิมพ์ เราเลยพิมพ์แบบไม่ได้ลงสุด รู้ว่ากดแล้วก็ดึงนิ้วออก พอพูดออกมาเป็นประโยคแล้วแปลกๆ แต่หากคนที่พิมพ์งานน่าจะเข้าใจ เราผ่านการลงแรงกดผ่านสวิตซ์ tactile 68g ทุกวัน พอมาเจอตัวที่ไม่ต้องออกแรงมากมันก็เลยเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าอันไหนดีกว่ากัน มันขึ้นอยู่กับความชอบแหละ แต่ตัวนี้ก็ช่วยให้เราเปิดใจกับ Linear เยอะขึ้นเลยทีเดียว เอาเป็นว่าพิมพ์สนุกดี

ระยะมือ ขนาด กว้างยาวสูง รู้สึกยังไง

เรื่องความหนา ตัวนี้ก็หนาจริง ตัวขอบก็หนา ตัวบอร์ดก็สูง ไม่มีขาตั้งปรับระดับมาให้อีก ช่วงแรกๆ มันเลยพิมพ์แบบติดขัด คือใช้วันแรกด้วยการไม่เอาที่รองข้อมือมาใช้เลย แรกๆมีปัญหาจริง คือมันไม่ถูกต้องตามความคิด จังหวะการพิมพ์สะดุดไปหน่อย แต่ช่วงใกล้ๆ ก่อนจบวันกลับพบว่ามันชินมือขึ้น ก็อยู่แล้วแหละ คีย์บอร์ดมันไม่เหมือนกัน มาลองใช้แรกๆ ก็อาจไม่ชินมือ พอร่างกายและนิ้วเข้าที่ มันเลยชินมือ แต่ก็ยังรู้สึกว่าความสูงเป็นปัญหาอยู่ดี 

วันที่สองเลยเอาที่รองข้อมือมาใช้งาน โอเค เริ่มสนุก พิมพ์ได้ดียิ่งขึ้น พวกปุ่มบนๆ เราไม่ต้องยกข้อมือออกเพื่อเอื่อมไปกดมากเท่าตอนแรก จริงๆ ก็อาจเพราะใช้มาแล้ววันนึง มันเลยชินมือ ในเรื่องของระยะห่างระหว่างคีย์ หรือการเรียงจัดเรียงปุ่มตรงนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเคยใช้  75% ทรงนี้มาก่อน โดยรวมแล้วนอกจากความสูง ก็ไม่ได้มีปัญหาหรือประเด็นน่าตีตรงไหนครับ

การเชื่อมต่อ

ก็ขอบ่นแล้วบ่นอีกเรื่องที่มันเป็นคีย์บอร์ดมีสาย แต่ให้สาย USB-C to USB-C คือกลัวอะแดปเตอร์แปลงมันหายไง กลัวมาก คือมันจะติดอยู่กับพอร์ตเลยก็จริง แต่ถ้ามันหายอะ ถ้ามันหายยยยยยย จะทำยังไง กลัวแค่นี้แหละ เรื่องสายมันไม่ได้เป็นปัญหา เราจัดโต๊ะให้สายไปทางที่ไม่เกะกะได้ ส่วนการใช้งาน เราก็ใช้กับคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คอยู่แล้ว ไม่ได้จำเป็นต้องไร้สาย และที่มันไม่ต้องคอยเช็คว่าแบตเตอรี่เหลือเท่าไหร่ก็ดีไม่น้อย แต่ก็ทำให้มันจำกัดอยู่กับการใช้งานได้ไม่กี่อุปกรณ์ ถ้าเทียบกับรุ่น K ที่ให้มาทั้งไร้สายและมีสาย ใครที่ใช้กับพวกอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต ตัวนี้ก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์เท่าไหร่

อีกเรื่องคือ มันใช้งานกับ macOS ได้ด้วยนะ ข้างหลังของคีย์บอร์ดส่วนที่มีพอร์ตการเชื่อมต่ออยู่ จะมีสวิตซ์เปลี่ยนจาก Win ไป Mac คือเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่สำหรับคนใช้ Windows แต่กับคนใช้ Mac มันจะหาคีย์บอร์ดยากสักหน่อยเมื่อก่อน ไม่ใช่ว่าคีย์บอร์ดจะออกมาเพื่อ iMac หรือ ตระกูล Mac ทั้งหลายแบบเต็มประสิทธิภาพขนาดนั้น การที่มันรองรับ ก็แปลว่าบางคำสั่งที่มีแค่ใน Mac ตัวนี้เองก็สามารถส่งคำสั่งได้เหมือนกัน 

ไฟ RGB

เกือบลืมเรื่องไฟ RGB ไปเลย คือไม่ได้เปิดบ่อยไง ปกติทำงานในห้องที่ไฟฟ้าเข้าถึงอย่างต่อเนื่อง และก็ไม่ได้ชอบให้มีไฟระหว่างพิมพ์ เลยไม่ได้รู้สึกว่ามีแล้วดียังไง แต่ก็ที่มันมีก็ดีกับหลายคนแหละ บางคนชอบไฟไง พิมพ์ไปกับแสงสี กับคีย์บอร์ดสวยๆ ให้เหมือนผีเสื้อราตรี เอาหละ สรุปคือ ตัวนี้มีไฟ RGB นะ ปรับได้หลายรูปแบบ สว่างพอตัว แต่ไม่รอดผ่านคีย์แคป ถ้าทำงานห้องมืดๆ เปิดไฟไปก็ไม่ค่อยเห็นอยู่ดี ถือว่ามีก็ดีแล้วกัน

Software

ก็เจ้าเดิมอีก ขออันเชิญ Third party สุดแข็งแกร่ง นั่นคือ GMK กับ VIA ที่หลายคนน่าจะมีติดเครื่องกันแล้ว การใช้งานก็เหมือนเดิม ตัวนี้เปลี่ยนคำสั่งรายปุ่มได้ สร้าง Layer ได้ ทำมาโครได้ ก็ทำให้การใช้งานมันยืดหยุ่นมากขึ้น ขอแค่ไปโหลด .json ให้ถูกรุ่นก็พอ ซึ่งไปส่องมา หน้าเว็บ Keychron ประเทศไทยมีให้โหลดด้วย ไม่ต้องไปงมหาอีกต่อไปแล้ว

ที่ชอบ

  •  สัมผัสดี รู้เลยว่าวัสดุคุณภาพพอตัว แข็งแรง
  •  knob มันขนาดพอดีมือ ไม่ใหญ่เกินไป แถมยังหมุนแบบมีจังหวะ ไม่ได้ปล่อยหมุนฟรี
  •  สวิตซ์ Linear แรกที่กดแล้วเพลินมือที่สุด 
  •  เสียงมัน Clack แน่น คีย์แคปก็กดสนุก

ที่ไม่ชอบ

  • หนามาก ทั้งขอบและความสูง 
  • ฟอนต์ไทยดูไม่โดดเด่น 
  • ต้องมาคอยปิดไฟ RGB เพราะถ้าเสียบข้างไว้กับโน๊ตบุ๊ค แม้ปิดเครื่องไปแล้วไฟก็ยังติดอยู่ 

ให้คะแนน

วัสดุ 7/10 : มันดีนะ แต่มันขึ้นรอยนิ้วมือง่ายไปหน่อย พอเป็นสีดำเลยเห็นชัด

design 7/10 : บอร์ดขนาด 75% หน้าตาเดิมๆ นี่แหละ ไม่หวือหวาดี แค่ไม่ชอบที่มันหนาไป

เสียง 8/10 : เสียงดีแบบไม่มอดก็ยังใช้งานได้ แต่มอดเพิ่มก็ได้เสียงที่ดีกว่าแน่นอน

การใช้งาน 8/10 : ถ้าเรื่องพิมพ์ สนุกดี ต่อขอตัดเรื่องสายเชื่อมต่อ น่าตี

ความคุ้มค่า 8/10 : ราคานี้ พร้อมใช้งาน ไม่มอดก็ใช้ได้เลย ก็ถือว่าดีเลยครับ

 

Youtube แนวทางการ Mod และ Sound test

อันนีช่วยตั้งแต่เริ่ม แถมยังสอนมอดอีกด้วย ถ้าอยากได้เสียงดีขึ้น ก็ลองมอดตามเขาได้เลย

คล้ายๆ อันแรกเลยครับ แต่จะละเอียดกว่า 

 

ตัวนี้จะเทสเสียงของสวิตซ์แต่ละประเภทครับ

หาซื้อได้ที่ไหน

  • Mercular
  • Shopee
  • Lazada

เป็นอย่างไรกันบ้างครับตัวนี้ หลายคนคงลืมไปกันบ้างแล้วเพราะปีนี้มีคีย์บอร์ดออกมาถี่และเยอะพอสมควรเลย ไม่ต้องไปแบรนด์อื่นเลยครับ Keychron เล่นออกตระกูล Q มาไม่พัก แถมยังกำลังออกซีรีส์ใหม่มาด้วย ถ้าใครที่ชอบหรือกกำลังติดตาม Keychron อยู่ เรากำลังหาตัวอื่นๆ มาเล่นและรีวิวให้ดู ก็อย่าลืมติดตามการรีวิวคีย์บอร์ดของเราต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าตัวถัดไปอาจเป็นตัวที่เพื่อนๆ เล็งอยู่ ก็เป็นได้

รูปภาพจาก : keychronthailand

Share the Post:

Related Posts

รีวิว Nuphy Air 75 ครบจบสำหรับ Low Profile

รีวิว Nuphy Air 75  ย้อนกลับไปช่วงที่ Keychron กำลังดัง นางก็ออก K3 mechanical keyboard 75% low profile มาให้ทุกคนได้กรี๊ดกัน จะหาซื้อก็หาไม่ได้ ส่วนตัวผมเองก็ซื้อไม่ทันเช่นกัน ต้องรอเฝ้าติดตาม พอเค้าประกาศออกมา ว่าของมาแล้วก็รีบกดเลยจ้า

Read More

รีวิว Royal Kludge RK68 ตัวเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดคัสตอม

Royal Kludge RK68 ถ้ามีคนมาถามให้แนะ Mechanical Keyboard ไซส์ 65 ตัวเริ่มต้นให้ซักตัว หนึ่งในตัวเลือกที่หลายๆคนจะคิดถึง ก็น่าจะเป็น RK68 ของแบรนด์ Royal Kludge ราคาปกติกระมาณ 1,600 บาท ถ้ารอช่วงลด มีโอกาส

Read More